ประโยชน์ของอุปกรณ์ช่วยเดิน
1. ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหวและการทรงท่า
อุปกรณ์ช่วยเดินประเภทต่างๆ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหวได้จากการเพิ่มขนาดฐานรองรับร่างกายให้กว้างขึ้นตามลักษณะของอุปกรณ์ช่วยเดิน รูปที่ 3 แสดงขนาดของฐานรองรับร่างกายขณะยืนโดยไม่ใช้และใช้อุปกรณ์ช่วยเดินประเภทต่างๆ โครงเหล็กช่วยเดินเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มฐานรองรับร่างกายได้มากที่สุด ไม้ค้ำยัน ช่วยเพิ่มฐานรองรับร่างกายได้น้อยกว่าโครงเหล็กช่วยเดิน ส่วนไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ช่วยเพิ่มฐานรองรับร่างกายน้อยที่สุด จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการทรงตัวค่อนข้างดี และมีความสามารถในการเดินได้ดีกว่าผู้ที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน 2 ชนิดดังกล่าวข้างต้น
2. ช่วยลดปริมาณน้ำหนักตัวที่กระทำต่อขาและช่วยเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ
อุปกรณ์ช่วยเดินแต่ละประเภทจะมีลักษณะและระดับการช่วยพยุงที่แตกต่างกันโดยโครงเหล็กช่วยเดิน เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักบนแขนเพื่อชดเชยการลงน้ำหนักที่ขาได้ในแนวดิ่งถึงร้อยละ 100 ของน้ำหนักตัว ไม้ค้ำยันสามารถช่วยชดเชยการลงน้ำหนักที่ขาได้ลดลง แต่ยังคงให้ความช่วยเหลือได้มากถึงร้อยละ 80 ของน้ำหนักตัวและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้เร็วกว่าการใช้โครงเหล็กช่วยเดิน ส่วนการใช้ไม้เท้ามีระดับการช่วยพยุงน้อยที่สุด2 ซึ่งสามารถชดเชยการลงน้ำหนักที่ขาได้เพียงร้อยละ 25 ของน้ำหนักตัว และยังพบว่าการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินสามารถช่วยเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ เช่น การใช้ไม้เท้าในด้านตรงข้ามกับด้านที่มีการอ่อนแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อกางขา (hip abductor muscle) จะสามารถช่วยชดเชยต่อการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้ การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินจึงช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวด้วยตนเองได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปนานๆ หรือการใช้อย่างผิดวิธีและไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ตามมาได้
ผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
แม้อุปกรณ์ช่วยเดินช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหวและการทรงท่า รวมไปถึงช่วยลดแรงกระทำต่อขาทั้งสองข้างได้ แต่การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินมักส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในด้านต่างๆ เช่น ส่งผลต่อความมั่นคงในบางสถานการณ์ของการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย1 เนื่องจากอุปกรณ์ช่วยเดินมักจะทำให้มีการจำกัดการเคลื่อนไหวในบางทิศทางโดยเฉพาะด้านข้าง5 และส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยพยุงผู้ป่วยทางด้านหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการล้มทางด้านหลัง นอกจากนี้ อุปกรณ์ช่วยเดินมักทำให้ผู้ป่วยมีรูปแบบการเดินที่ผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงและความยาวของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการอ่อนแรงและยึดติด เช่น กลุ่มกล้ามเนื้องอข้อสะโพก และกล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นต้น และยังพบว่าการเดินร่วมกับอุปกรณ์ช่วยเดินยังทำให้ผู้ป่วยต้องใส่ใจในขณะเคลื่อนไหวอย่างมาก ทำให้ใช้เวลาในการเดินช่วงลงน้ำหนักบนขาทั้งสองข้าง (double support phase) นาน ทำให้มีความถี่ของการก้าวที่ลดลง มีระยะก้าวสั้นลง ทำให้ผู้ป่วยเดินช้าลง และต้องใช้พลังงานในขณะเดินสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักจะส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ถึงร้อยละ 64 ในกลุ่มกล้ามเนื้อแขนและหลังส่วนบน13 ดังนั้น การแนะนำ การพัฒนาความสามารถและติดตามผลอย่างเหมาะสม จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดเหล่านี้กับผู้ป่วยได้
การเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสม
ในขั้นแรกควรพิจารณาถึงความต้องการของผู้ใช้ว่าต้องการใช้แขนข้างเดียวหรือทั้งสองข้างในการช่วยพยุงการทรงตัวและช่วยในการลงน้ำหนัก หากต้องการใช้เพียงแขนข้างเดียวในการช่วยพยุงการทรงตัวและลงน้ำหนัก ไม้เท้าถือว่ามีความเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใช้ แต่หากผู้ใช้ต้องการใช้แขนทั้งสองข้างในการช่วยพยุงการทรงตัวและลงน้ำหนัก ควรเลือกใช้โครงเหล็กช่วยเดินหรือไม้ค้ำยัน ทั้งนี้ การเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ควรคำนึงถึงลักษณะความผิดปกติ ระดับการรับรู้ สมรรถภาพทางกาย สภาวะแวดล้อม ความสามารถในการตัดสินใจ การมองเห็น และความแข็งแรงของร่างกายส่วนบน